อุปกรณ์ที่จำเป็น

อุปกรณ์ที่จำเป็น

อีกส่วนสำคัญของการเริ่มตั้งสำนักงาน ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม ก็คือการเลือกซื้อหาอุปกรณ์ต่าง ๆ นั้นเอง ตัวอย่างอุปกรณ์ที่อาจต้องมองหาเพื่อเริ่มต้นสร้างสำนักงานได้แก่



คอมพิวเตอร์

จำเป็นสำหรับ ทุกสายงาน

คอมพิวเตอร์กลายเป็นอุปกรณ์พื้นฐานในการทำงานในปัจจุบันไปแล้ว คำแนะนำคือพยายามลงทุนกับคอมพิวเตอร์ที่เชื่อถือได้ มีสมรรถนะเหมาะกับงานที่คุณต้องทำ

เครื่องพิมพ์ขาวดำ
เครื่องพิมพ์ขาวดำ ปัจจุบันมีราคาถูกมาก จนกลายเป็นอุปกรณ์แจกฟรีเมื่อซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ไปแล้วในบางครั้ง มีตัวเลือกทั้งเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ต เครื่องพิมพ์เลเซอร์ แต่เครื่องพิมพ์ด็อทเมทริกซ์นั้นไม่ค่อยได้รับความนิยม

เครื่องพิมพ์สี
เมื่อก่อนเครื่องพิมพ์สีเป็นเรื่องไกลเกินเอื้อมจริง ๆ แต่ปัจจุบันตัวเลือก เครื่องพิมพ์มีให้เลือกหลากหลายช่วง ตามคุณภาพและราคา ต้นทุนสำคัญ อีกส่วนของเครื่องพิมพ์สีก็คือ ต้นทุนเรื่องหมึกพิมพ์ หรือโทนเนอร์ เครื่องพิมพ์สีอาจแยกออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ ก็คือ เครื่องพิมพ์ที่เป็นอิงค์เจ็ต กับเครื่องพิมพ์สี ที่เป็นเลเซอร์ เครื่องพิมพ์ที่ใช้กันส่วนมากจะเป็นอิงค์เจ็ตแบบเติมหมึก ซึ่งปัจจุบันมีตลับทดแทน หรือไม่ก็ติดแทงค์เข้ามาก็ช่วยประหยัดได้พอสมควร ส่วนเครื่องพิมพ์เลเซอร์สี ราคาเครื่องนั้นลดลงมามากพอสมควรแล้ว แต่หมึกพิมพ์ยังมีราคาสูงมากและไม่จำเป็นสำหรับการพิมพ์งานทั่วไป

เครื่องโทรสารหรือเครื่องแฟกซ์
ยังคงมีอีกทางเลือกสำหรับการรับและส่งข้อมูลที่ยังใช้งานกันค่อนข้างมาก แม้ว่าจะมีช่องทางอื่นทดแทนขึ้นมาจากเดิมก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ต อีเมล์ ฯลฯ หรือกรณีที่เปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ไว้ตลอดหรือตั้งเซิร์ฟเวอร์ อาจลองพิจารณาระบบซอฟต์แวร์ ที่ทำหน้าที่เสมือนแฟกซ์มาใช้งานแทนก็ได้

สแกนเนอร์
มีประโยชน์สำหรับงานออกแบบมากทีเดียว และมีประโยชน์ในการนำข้อมูลเข้ามายังเครื่องคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันราคาเครื่องสแกนเนอร์ถูกลงมาก และทำงานได้รวดเร็วขึ้น ความละเอียดที่แตกต่างกัน จะเป็นตัวกำหนดราคาของเครื่องสแกน

อุปกรณ์สำรองข้อมูล
การสำรองข้อมูลเป็นหัวใจสำคัญของฟรีแลนซ์ หลายครั้งหลายคนที่เรามักจะได้ยินเรื่องราวจากปากคนอื่น ๆ ว่าคอมพิวเตอร์พัง ฮาร์ดดิสก์เสีย ข้อมูลสูญหายไปหมด งานที่กำลังจะต้องส่งหายไป ไม่มีงานส่งลูกค้า ฯลฯ ปัญหาเช่นนี้ต้องไม่เกิดขึ้นกับคนที่จะเรียกตัวเองว่าฟรีแลนซ์มืออาชีพ

อุปกรณ์สำรองข้อมูลปัจจุบันมีให้เลือกใช้อย่างหลากหลาย แตกต่างกันไปตามความต้องการในเรื่องขนาดและความจุ รวมถึงการสำรองข้อมูลอัตโนมัติ หรือต้องจัดการเอง เช่น นักเขียน อาจเลือกใช้เพียงทัมป์ไดรฟ์ ที่มีความจุมากมาย หรือฮาร์ดดิสแบบพกพา เพื่อสำรองข้อมูลจากเครื่องพีซี หรือโน๊ตบุ๊คส์ ขณะที่ฟรีแลนซ์ด้านบัญชีอาจต้องการความจุที่เพิ่มขึ้น กับความน่าเชื่อถือที่มากขึ้น รวมทั้งการสำรองข้อมูลอัตโนมัติ เพราะคงไม่สนุกแน่ ๆ หากข้อมูลบัญชีตลอดทั้งปีของลูกค้าหลายรายที่เก็บไว้ในเครื่องต้องหายไปจากโลก โดยที่คุณต้องเป็นคนอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจ

ข่าวดีก็คือ อุปกรณ์สำรองข้อมูลแทบทุกประการมีความจุต่อหน่อยต่อราคาที่ต้องจ่ายลดลงจากเดิมมาก รวมถึงอุปกรณ์สำรองข้อมูลอัตโนมัติที่พร้อมใช้งานในระบบเครือข่ายได้ทันที คำแนะนำคือ ให้ลงทุนกับอุปกรณ์เหล่านี้เสมอ อย่ารอมาบ่นเสียดาย เสียใจ ไม่น่าพลาดที่ไม่ได้ลงทุน และไม่รู้จะหาอะไรมาอธิบายกับลูกค้าให้ยอมรับและเข้าใจได้

อุปกรณ์ป้องกันไฟกระชาก
อุปกรณ์ไฟฟ้า มักจะอ่อนไหวกับกระแสไฟฟ้าที่ไม่สม่ำเสมอ หรือเกิดการกระชากอย่างรุนแรง เช่นกรณีเกิดไฟซ็อต เกิดฟ้าผ่าอย่างรุนแรง ฯลฯ หากไม่มีอุปกรณ์ปรับแรงดันไฟฟ้าหรือวงจรป้องกันกระแสไฟเกิน เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อื่น ๆ ของสำนักงานอาจเสียหายได้แบบไม่กลับ ลองมองหาอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้ากระชากมาใช้ ถือเป็นการลงทุนที่ชาญฉลาดครับ...

ที่ทำงานต้องมีความสุข

สถานที่ทำงาน เป็นหนึ่งในสถานที่ที่เราจะใช้เวลากับมันมากถึงมากที่สุด จึงควรให้ความสำคัญกับการจัดการพื้นที่ตรงนี้ให้ดี และมีบรรยากาศ เหมาะกับการสร้างสรรค์งานคุณภาพ จะว่าไปก็ควรให้ดีทั้งกับการผลิตงานและดีต่อสุขภาพด้วย ส่วนต่าง ๆ ที่ควรนำมาพิจารณาได้แก่

จัดตำแหน่งโต๊ะทำงานให้ดี
ควรหันหน้าโต๊ะทำงานออกไปหาประตู จะให้ความรู้สึกต้อนรับผู้มาเยือนได้ดีกว่าการหันข้างอีกด้วย ห้องทำงานควรมีแสงสว่างภายนอกส่องเข้ามาได้ หากพึ่งแต่แสงจากหลอดนีออน อย่างเดี่ยวจะทำให้สายตาล้าได้ และเกิดความเครียดสะสมมาก โดยเฉพาะกับงานที่ต้องใช้สายตามาก ๆ เช่น งานศิลปะ การออกแบบ กราฟฟิกดีไซน์ หรืองานที่ต้องจ้องหน้าคอมพิวเตอร์นาน ๆ เช่น งานแปลเอกสาร หรือการออกแบบเว็บไซต์

แป้นพิมพ์และเมาส์
ควรลงทุนกับแป้นพิมพ์และเมาส์ โต๊ะที่ใช้วางคอมพิวเตอร์ควรจะถูกหลักสรีระศาสตร์ เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมือและแขนได้รับบาดเจ็บ เพราะข้อเท็จจริงก็คือ มีผู้ใช้คอมพิวเตอร์มากมายที่ประสบปัญหาเจ็บป่วยจากอาการปวดข้อมือ ปวดหลังที่เกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อซ้ำ ๆ ในท่าเดิม ๆ มากจนเกินไป หากป้องกันได้ย่อมดีกว่าการตามรักษา

นอกจากนี้ ยังมีเคล็ดลับควรทำอื่น ๆ สำหรับที่ทำงานอีกด้วย เช่น

ควรล็อกห้องทำงานไว้เสมอ
ข้อเสนอนี้ควรทำตามอย่างยิ่ง โดยเฉพาะถ้าคุณทำงานที่บ้าน มีเด็ก ๆ หรือสัตว์เลี้ยง เพราะมีโอกาสมากทีเดียวที่งานซึ่งใกล้จะเสร็จหายไปต่อหน้าต่อตา หมาน้อยของคุณอาจจะขย้ำงานที่เพิ่งทำเสร็จ ลูกอาจจะเดินไปรีเซ็ต เครื่องคอมพิวเตอร์หรือทำน้ำหกรดคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้ป้องกันได้ครับ ด้วยการล็อกห้องทำงานไว้เสมอ เมื่อคุณไม่อยู่ในห้อง

ห้องทำงานต้องมีแสงเพียงพอ
ถ้าห้องทำงานมีขนาดเล็ก หรือมีหน้าต่างไม่มากนัก ลองหากกระจกมาแขวนใกล้ ๆ กับหน้าต่าง เพื่อเพิ่มแสง และยังช่วยให้ห้องดูโปร่ง กว้างขึ้นกว่าความเป็นจริงได้อีกด้วย

จัดห้องทำงาน อย่าให้รกรุงรัง
อย่างที่บอกว่า ห้องทำงาน ที่ทำงาน คือสถานที่ที่เราจะใช้เวลาอยู่กับมันมากที่สุด ดังนั้นเราควรใช้เวลาส่วนหนึ่งจัดระเบียบให้กับข้าวของ เอกสาร กระดาษรีไซเคิล เช่นเดียวกัน ถ้ามีอุปกรณ์อะไรที่ไม่เกี่ยวข้องกับงาน พยายามนำมันออกไปจากห้องเสีย เพื่อให้ห้องทำงานบรรยากาศดี และน่าทำงาน

หาบอร์ดติดเอกสาร หรือไวท์บอร์ดมาใช้
ลองมองหาคอร์กบอร์ดสำหรับติดบันทึกย่อ ติดเอกสาร หรือไวท์บอร์ดมาใช้ประโยชน์ในห้องทำงาน นอกจากจะช่วยบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ได้ดีแล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสให้คุณได้ลุกจากเก้าอี้ไปจัดการเขียนบันทึก จัดการเขียนหรือลบข้อมูลเป็นระยะได้ในตัว...

เคล็ดลับเลือกสำนักงาน

ทำรังแต่พอตัว
เริ่มจากเล็ก ๆ พอเหมาะ พอดีกับความจำเป็นก็พอ หมดสมัยของการคิดว่าสำนักงานเป็นหน้าเป็นตาแล้ว ยกเว้นคุณเป็นสถาปนิก หรือดีไซเนอร์ชื่อดัง ไม่มีปัญหาเรื่องทุนทรัพย์ อาจตกแต่งสำนักงาน
ให้หรู ฮิป เก๋ มีสไตส์ได้เต็มที่ เพราะนั้นเป็นเหมือนส่นหนึ่งของการโฆษณาให้ลูกค้าเห้นคำแนะนำสำหรับฟรีแลนซ์ทั่วไปก็คือ เริ่มต้นอย่างชาญฉลาดด้วยการประหยัด

เลือกสถานที่ให้ดี ไม่ทึบเกินไป
อย่าเลือกทีทำงานเป็นห้องปิด ไม่มีกระจก หรือไม่มีแสงสว่างส่องเข้ามาถึง เรียกว่า อาศัยแต่ไฟนีออนกับเปิดแอร์อย่างเดียว ทำงานไปไม่นานก็จะเหี่ยวเฉา คนทำงานก็จะหดหู่ ไม่มีพลังในการทำงาน

ไม่จำเป็นต้องเลือกใจกลางเมือง
ควรจะเลือกสถานที่เดินทางไปกลับได้สะดวก หากจะเลือกเช่าพื้นที่สำนักงานอาจไม่จำเป็นต้องมองพื้นที่กลางใจเมือง นอกจากค่าใช้จ่ายสูงแล้วยังอาจมีปัญหาเรื่องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

เช่าสำนักงานเป็นเรื่องเป็นราว

ฟรีแลนซ์บางคน อาจเลือกเช่าสำนักงานเล็ก ๆ ในเมือง หรือใกล้ ๆ บ้าน โดยอาจมีเหตุผลแตกต่างกันไป มีพี่ที่รู้จักกันคนหนึ่งเป็นช่างภาพ และทำสตูดิโอถ่ายภาพ โดยมีงานจากบริษัทเอเยนซี่ยักษ์ใหญ๋หลายราย จึงเลือกเช่าสำนักงานเล็ก ๆ ทำเป็นสตูดิโอไปด้วยในตัวใกล้ ๆ กับแถวสีลม เพื่อให้ลูกค้าเดินทางมาดูงานสะดวกแม้จะมีรายจ่ายสูงขึ้นมาพอสมควรก็ตาม

การเช่าสำนักงาน ช่วยให้แยกชีวิตส่วนตัวกับงานออกจากกันได้ นอกจากนี้ยังช่วยสร้างความพึงพอใจว่าเรามีออฟฟิศเป็นของตัวเอง แม้จะเล็กหรือใหญ่นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ลองมาดูข้อดีและข้อด้อยกันดีกว่า

ข้อดีของการเช่าสำนักงานได้แก่
ดูดี ดูเป็นมืออาชีพ
การทำงานที่บ้านอาจดูไม่เป็นมืออาชีพ การมีสำนักงานจะช่วยให้ดูดีขึ้นในสายตาลูกค้า ยิ่งถ้าเป็นสายงานที่ต้องมีการพบปะ

แยกชีวิตส่วนตัวกับงานออกจากกัน
การแยกสถานที่ทำงานออกมาต่างหาก จะช่วยให้ชีวิตงานกับชีวิตของคุณแยกออกจากกันได้ดีขึ้น แม้ว่าจะเป็นเรื่องธรรมดาที่ เมื่อก้าวข้ามมาเป็นเจ้าของกิจการ ย่อมทำให้ความคิดและสมาธิจดจ่อกับงานมากกว่าปกติก็ตาม

มีโอกาสบังคับตัวเองให้เลิกงานแล้วกลับบ้าน
อาจจะฟังดูแปลก ๆ แต่ก็เป็นเรื่องจริง การแยกที่ทำงานออกจากบ้านจะช่วยให้มีโอกาสปิดสวิตซ์ตัวเองให้ออกจากที่ทำงานอย่างจริง ๆ จัง ๆ ข้อดีอย่างหนึ่งของการได้เดินทาง เปลี่ยนปริบท ขับรถ นั่งรถไฟฟ้า ฯลฯ ได้พบเห็นชีวิตและผู้คนบ้าง จะเป็นการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้ไม่จำแจมาก

ส่วนข้อด้วอยของการเริ่มต้นด้วยการเช่าสำนักงานได้แก่
มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม
แน่นอนว่าอุปสรรคอย่างแรกของการเช่าสำนักงาน ก็คือการมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเกิดขึ้นทันที ทั้งค่าเช่า ค่าไฟ ค่าน้ำ รวมทั้งค่าเดินทางที่ต้องมีแน่นอน ดังนั้นอาจจะยังไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีงบประมาณเริ่มต้นไม่มากนัก

อาจกลายเป็นการหนีเสื้อปะจระเข้
สำหรับบางคน การออกมาทำงานฟรีแลนซ์ก็เพราะไม่อยากอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบสำนักงานเหมือนที่ผ่าน ๆ มา ถ้าเป็นกรณีนี้ก็อาจจะค่อย ๆ ใช้เวลาปรับเปลี่ยนไปทีละน้อยก็ได้

ต้องเสียเวลาเดินทางไปกลับ
แน่นอนว่าหากมีที่ทำงานแยกออกจากที่พัก เราก็ไม่อาจเลี่ยงการเดินทางได้ สำหรับในเมืองเล็กอาจจะไม่มีผลเท่าไหร่ แต่ในเมืองใหญ่ต้องพิจารณาให้ดีเช่นกัน เพราะอาจกลายเป็นว่าแต่ละวันหมดไปกับเวลาเดินทางไปกลับมากจนเกินจำเป็นอีกเหมือนกัน

เคยมีโอกาสได้พบปะกับที่ปรึกษาของเครือร้านอาหารหลากหลายแบรนด์ชั้นนำที่เปิดให้บริการในห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วประเทศ มีสาขามากมาย ผมได้ข้อมูลที่น่าทึ่งว่า บริษัทเจ้าของร้านอาหารเหล่านั้นมีสำนักงานเล็กมาก พนักงานส่วนใหญ่ทำงานออนไลน์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเข้าออฟฟิศแต่ใช้เวลากับการลงพื้นที่เห็นปัญหามองหาโอกาสจริง ๆ จากร้านค้าสาขาต่าง ๆ มากมาย เพราะเชื่อว่าทุกคนสามารถทำงานออนไลน์ถึงกันได้ การวางระบบเป็นไปตามนี้ และเจ้าของธุรกิจเป็นคนหัวสมัยใหม่ ใช้ช่องทางการสื่อสารผ่านระบบสื่อสารเป็นหลัก นาน ๆ ก็เรียกประชุมแบบพบเจอหน้ากันสักครั้ง ใช้ระบบสำนักงานเสมือนหรือ Virtual Office กันอย่างจริงจัง...

เคล็ดลับ สำหรับการทำงานที่บ้าน

เรามีเคล็ดลับถ้าต้องเลือกทำงานที่บ้าน เพื่อช่วยให้อะไร ๆ ดีขึ้น
พยายามแยกส่วนที่ทำงาน
หากทำได้ พยายามแยากส่วนพื้นที่ทำงานออกไปให้เป็นสัดส่วน หรือเป็นห้องเลยได้ยิ่งดี อย่าทำงานแบบแบกโน๊ตบุ๊คไปวางแทบทุกแห่งในบ้าน หรือบนโต๊ะกินข้าว นอกจากจะทำให้ทำงานโดย
มีสมาธิเต็มที่ได้ยากแล้ว ยังทำให้ชีวิตสับสนเรื่องงานกับเรื่องเวลาอื่น ๆ อีกด้วย

ถ้าทำได้พยายามให้ที่ทำงานอยู่ใกล้ประตูด้านหน้า
ถ้าลักษณะงานของคุณทำให้ต้องพบลูกค้าบ้างในบางครั้ง หรือบ่อย ๆ ควรจัดวางพื้นที่ทำงานให้อยู่ใกล้กับด้านหน้าของบ้านให้มากที่สุด เพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องเดินผ่านส่วนอื่น ๆ ของบ้านเข้าไปกว่า
จะถึงห้องทำงาน หรือพื้นที่ทำงานของคุณ

หาเวลาออกไปข้างนอกบ้าง
การทำงานที่บ้านอาจทำให้คุณรู้สึกเบื่อ บางคนที่คุมตัวเองไม่ได้ อาจห้ามใจไม่ให้ขึ้นไปนอนบนเตียงนุ่ม ๆ ส่วนเรื่องการเบื่อสภาพแวดล้องที่ทำงาน อาจแก้ไขได้โดยการเข้าไปเดินเล่นที่อื่นบ้าง
เข้าเมื่อไปรีเฟรชตัวเอง นัดเพื่อนฝูง คนรักไปทานข้าว ไปดูหนัง ให้ชีวิตมีหลายมิติ ไม่ใช่มีแต่งานกับงานตลอดเวลา...

บริหารเวลาทำงานแบบมืออาชีพ

ก้าวแรก ๆ  ของการหันมาเลือกเดินในเส้นทางฟรีแลนซ์เต็มรูปแบบ ก็คือการจัดการสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างไรดี จะเช่าสำนักงานเลยหรือเปล่า หรือเริ่มจากห้องพัก จากบ้านตัวเองก่อน
เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ลองมาดูรายละเอียดน่ารู้กันเลยครับ

โฮมออฟฟิศหรือออฟฟิศ
นี่คือส่วนแรกที่ต้องคำนึงถึง ลักษณะงานของเราควรจะใช้สถานที่ที่ทำงานแบบไหน เป็นสำนักงานเล็ก ๆ เลยหรือเปล่า หรือเป็นงานอิสระที่ไม่จำเป็นต้องมีสำนักงานก็ได้ มีคอมพิวเตอร์เครื่องเดียว
ก็ออกแบบได้สบาย ๆ ที่ไหนในโลกก็ได้ หรืองานแปล งานล่าม ที่ปรึกษา ฯลฯ ก็จะมีความเหมาะสมและความจำเป็นแตกต่างกันออกไป

เริ่มต้นทำงานที่ไปบ้านไปก่อน
ข้อดีของการเริ่มต้นทำงานที่บ้านหรือที่พักอาศัยเป็นที่ทำงานก็คือ มันดูสบาย และจะว่าไปเป็นสภาพแวดล้อมที่คุ้นชินและสบาย ผ่อนคลายมากที่สุด ฟรีแลนซ์จำนวนมากเริ่มต้นจากจุดนี้ ซึ่งก็มีทั้งจุดเด่นและจุดด้อยในตัวของมันเอง ได้แก่

ประหยัดค่าใช้จ่าย
นี่อาจเป็นประเด็นสำคัญที่สุดของการเลือกทำงานที่บ้าน ก็คือ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มเติม ไม่ต้องไปเสียเงินเช่าพื้นที่สำนักงาน

ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง
ปัญหาการเสียเวลาเดินทางไปและกลับที่ทำงานในเมืองใหญ่ กลายเป็นปัญหาที่ดูจะไม่มีทางออกเอาเสียเลย คิดง่าย ๆ ว่าเวลาเดินทางไปและกลับวันละ 2-3 ชั่วโมง ถ้าเปลี่ยนมาเป็นเวลาทำงานจะสร้างงานเพิ่มได้อีกขนาดไหน

เป็นส่วนตัว/สบาย
การที่มีบรรยากาศที่คุ้ยเคย ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย และไม่เกิดความเครียด ทำงานได้แบบเนียน ๆ กว่าการทำงานในสำนักงานไหน ๆ ในโลก นอกจากนี้ยังอาจสอดคล้องกับวิถีชีวิต เช่น เวลาออกกำลังกาย ทำอาหารทานเอง เล่นกับหมาน้อย ฯลฯ ได้

เหมาะกับคนที่มีลูก
สำหรับคนที่มีเจ้าตัวน้อย ๆ ให้ดูแล จะพบว่าการเป็นฟรีแลนซ์อยู่ที่บ้านเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ลงตัว คุณได้ทำงานที่รัก ขณะที่มีเวลาดูแลลูกไปด้วย แน่นอนว่ามันอาจจะเหนื่อยนิดนึง แต่อาจจะดีกว่าการให้ลูกโตขึ้นมาด้วยการจ้างคนอื่นเลี้ยงแทน

แล้วจุดด้วยของการทำงานที่บ้านล่ะ  แน่นอนว่ามันมีจุดด้วย เช่น คงไม่ใช่เรื่องสนุกแน่ ถ้างานของคุณเป็นงานที่ต้องพบปะกับลูกค้า และลูกค้าจะรู้สึกอย่างไร ถ้าคุณมาหาที่บ้าน แล้วเห็นคุณถอดเสื้อหรือกางเองในตัวเดี่ยวทำงาน

จุดด้อยของการทำงานฟรีแลนซ์ที่บ้าน
ดูไม่เป็นมืออาชีพ
หากคุณอยู่ในสายงานที่จำเป็นต้องพบปะลูกค้าบ่อย ๆ การใช้บ้านหรือคอนโดเป็นที่ทำงานอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก เพราะเกิดจู่ ๆ วันดีคืนดี ลูกค้าบอกว่าอยากจะไปเยี่ยมที่ออฟฟิศคุณหน่อย อาจกลายเป็นเรื่องวุ่นเล็ก ๆ ได้ทันที

อาจแออัดเกินไป
ปัญหาอีกส่วนของการใช้บ้านหรือที่พักเป็นที่ทำงานฟรีแลนซ์ก็คือ พื้นที่ใช้สอยอาจไม่เหมาะสมโดยเฉพาะถ้าพื้นที่คับแคบมีการแชร์พื้นที่กับบุคคลอื่น ๆ พอจะวางโต๊ะทำงาน คอมพิวเตอร์ พรินเตอร์ เครื่องแฟกซ์ เข้าไปอีก็อาจจะไม่ลงตัวเท่าไหร่นัก

แยกไม่ออกระหว่างบ้านกับที่ทำงาน
ปัญหาใหญ่เรื่องหนึ่งของการใช้บ้านเป็นที่ทำงานก็คือ จะไม่มีการแยกภาค แยกเวลาที่ชัดเจนระหว่างชั่วโมงของบ้านและการทำงาน กว่าจะรู้สึกตัวก็จะกลายเป็นทุกชั่วโมงเป็นชั่วโมงการทำงานไปเสียหมด ความรู้สึกว่ามันมีวันหยุดจะหายไปจากชีวิต หรือบางคนอาจรู้สึกว่าอยู่ที่ทำงานตลอดเวลา

วัฏจักรชีวิตอาจจะรวนไปหมด
การทำงานที่บ้านอาจทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงไปได้ในบางครั้ง เช่น การทำงานที่สำนักงานจะมีเวลาปิดที่ค่อนข้างแน่นอน แต่พอทำงานที่บ้านก็จะไม่รู้สึกถึงข้อจำกัดดังกล่าว เราอาจทำงานยาวจนดึกดื่น ลากยาวไปถึงเจช้าของอีกวันจนกลายเป็นเรื่องธรรมดา หรือไม่ก็ทำงานดึกแล้วตื่นสาย พอตื่นมาก็ต้องรีบทำงานชดเชยในช่วงบ่าย กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ดึกเกินไปอีกแล้ว แบบนี้วัฏจักรชีวิตรวนแน่ ๆ ครับ....

ส่วนสำคัญที่ต้องคำนึง เมื่อสร้างเว็บไซต์

เว็บไซต์ต้องระบุชัดเจนถึงธุรกิจหรือบริการของคุณได้อย่างเหมาะสม ทั้งเรื่องหน้าตา สีสัน ภาษาที่เลือกใช้ เช่น เว็บไซต์ของที่ปรึกษาด้านการจัดงานแต่งงาน ปาร์ตี้ย่อมแตกต่างจากเว็บไซต์ของที่ปรึกษาด้านการบัญชีอย่างแน่นอน

คำนึงถึงลูกค้า ออกแบบเว็บให้ใช้งานง่ายขึ้น
การออกแบบเว็บ ให้คำนึงถึงลูกค้าให้มาก ไม่จำเป็นว่าจะต้องโชว์เทคนิค แฟลชอะไรมากมายจนกระทั้งลูกค้าไม่อยากเสียเวลาโหลด หรือต้องเสียเวลาทำความเข้าใจว่าคุณมีบริการหรือสินค้าอะไรอยากนำเสนอ คาถาสำคัญที่ท่องให้ขึ้นใจก็คือ ออกแบบเว็บไซต์ให้ลูกค้าใช้ ไม่ใช่ออกแบบเพื่อเอามันหรือไว้โชว์พาวเวอร์ตามใจตัวเอง

ภาษาที่ใช้สื่อสารต้องดี
อย่าใช้ภาษาการตลาดมากมายจนเฝือ จนคนอ่านอ่านแล้วไม่เข้าใจหรือเบื่อ ควรเลือกใช้ภาษาที่สื่อสารถึงตัวคุณได้เป็นอย่างดี อ่านแล้วรู้ชัดเจนว่าคุณมีทักษะอะไรหรือให้บริการอะไร ธุรกิจของเขาจะได้รับประโยชน์อย่างไร  จากการใช้บริการของคุณ เช่น หากคุณเป็นนักออกแบบเว็บไซต์ แต่ไม่ใช่โปรกแกรมเมอร์ และคุณกำลังมองหาโปรแกรมเมอร์ฟรีแลนซ์ คุณจะมีโจทย์อะไรในใจบ้าง แล้วย้อนมาถามตัวเองว่าในเว็บไซต์ของคุณ คุณควรจะบอกข้อมูลอะไรบ้างให้ชัดเจน

ถ้ามีคำชม อย่าลืมแสดงไว้ด้วย
ถ้าคุณมีลูกค้าที่พึงพอใจบริการหรือสินค้า อย่าพลาดโอกาสที่จะนำเอาข้อความที่แสดงคำชม แสดงความพอใจมาแปะไว้ในเว็บบ้างพอประมาณ แต่ไม่ใช่มากมายโอเว่อร์จนเกินจริง

อย่าลืมช่องทางติดต่อ
หลังจากได้ดูข้อมูลต่าง ๆ ตัวอย่างผลงาน ฯลฯ แล้ว ต้องไม่ลืมช่องทางสำหรับการติดต่อที่สะดวกที่สุดสำหรับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น เบอร์โทรศัพท์ เบอร์มือถือ MSN อีเมล์ ฯลฯ หรืออาจเป็นแบบฟอร์มให้ลูกค้าที่สนใจกรอกแล้วกดส่งข้อมูลมาถึงคุณได้ทันทีผ่านเว็บไซต์

สร้างชื่อเสียงจากงานที่ทำ
หากจะบอกว่าการหาโอกาสที่จะได้รับความไว้วางใจให้ทำงาน เป็นเรื่องยากแล้ว การรักษาโอกาสและต่อยอดโอกาสที่ได้รับมานั้นเป็นเรื่องยากเข้าไปอีก วิธีการที่ดีที่สุดเสมอก็คือ การสร้างผลงานที่ดี ผลิตผลงานที่ยอดเยี่ยมให้ลูกค้าเสมอ ผลงานของเราจะเป็นตัวแทนที่ พูดได้ดังที่สุด เสมอ

ลองคิดถึงผลงานการถ่ายภาพที่แปะชื่อช่างภาพ อำมาตย์ นิมิตรภาค ดูซิครับ ว่าชื่อเสียงและผลงานมีผลต่อการสร้างความน่าเชื่อถือมากมายขนาดไหน

เช่นเดียวกัน หากเราใส่ใจและทุ่มเทกับงานทุกชิ้นที่ผ่านมือ ไม่นานเราก็จะได้รับการยอมรับในฐานะของฟรีแลนซ์มืออาชีพ ในฐานะที่เป็นแถวหน้าของวงการนั้น ๆ ไปในที่สุด

นอกจากนี้ การสร้างชื่อเสียงดวยการทำตัวเป็นผู้เชี่ยวชารญในสายนั้น ๆ ก็เป็นอีกวิธีการที่ดี เมื่อก่อนการจะมีโอกาสให้เขียนผ่านสื่อต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ยากเอาเรื่อง แต่ปัจจุบันนี้โอกาสเปิดกว้าง ด้วยบล็อก ต่าง ๆ เว็บไซต์คอมมูนิตี้มีมากมาย หรือกระทั้งการเข้าไปเป็นสมาชิกเว็บบอร์ดต่าง ๆ แล้วตอบคำถาม ให้ข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ หากคุณแจ๋วจริง ไม่นานก็จะได้รับการยอมรับจากเพื่อน ๆ สมาชิกในวงกว้างไปเอง

การสร้างชื่อเสียงด้วยการใส่ใจกับผลงานยังมีผลช่วยให้ลูกค้ามั่นใจที่จะแนะนำคุณต่อให้กับบุคคลอื่น ๆ หรือการส่งงานอื่น ๆ ต่อเนื่องให้กับคุณต่อไปอีกด้วย และที่สำคัญการสร้างชื่อเสียงต่อเนื่อง รักษาคุณภาพงานสม่ำเสมอ จะส่งผลต่อค่าตอบแทนที่ขยับสูงขึ้นได้จากเดิมอีกด้วย

บางครั้งเราก็จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือเป็นที่รู้จักในวงการนั้น ๆ เช่น ฟรีแลนซ์ที่ปรึกษาทางกลยุทธ์ ย่อมได้รับความเชื่อถือมากกว่าหากมีการออกข่าว ให้ทัศนะในสื่อที่เกี่ยวข้องบ้างเป็นระยะอย่างนี้เป็นต้น แน่นอนว่าชื่อเสียงเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการสร้างขึ้นมา ต้องทำให้คนอื่นเชื่อมั่นว่าเราแจ๋วจริง เก่งจริงในสายงานนั้น ๆ ที่สุดก็จะเกิดการบอกต่อและแนะนำไปแบบปากต่อปาก แต่ไม่ว่าอย่างไร ต้องท่องไวเสมอว่า ต้องสม่ำเสมอ เมื่อได้โอกาสมาอยู่ในมือแล้วต้องรักษาไว้ให้ดีที่สุด ด้วยการสร้างงานคุณภาพยอดเยี่ยมให้ลูกค้าเสมอ

แม้ว่าการสร้างแบรนด์จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากทุ่มเทกับมันให้มากพอ ดอกผลของมันจะงดงามเสมอ คุณจะได้รับการยอมรับในอุตสาหกรรมนั้น ๆ รวมทั้งจากลูกค้า มีโอกาสที่จะได้รับงานดี ๆ และให้ผลตอบแทนงดงาม รวมถึงได้งานต่อเนื่องและได้รับลูกค้าใหม่ ๆ เข้ามา

เว็บไซต์ ห้ามมองข้าม

สำหรับฟรีแลนซ์ในปัจจุบัน เว็บไซต์ถือเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ตัวเองเพื่อสร้างแบรนด์ได้อย่างดีเยี่ยมและมีต้นทุนต่ำที่สุด เว็บไซต์ไม่เพียงกลายเป็นช่องทางแรกที่จะต้องให้ข้อมูลกับผู้ที่อาจเป็นลูกค้าของเราได้สะดวกที่สุด นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่สำหรับแสดงตัวอย่างผลงานที่ผ่านมา ประสบการณ์และเป็นช่องทางบอกรายละเอียดสำหรับติดต่อเราได้เป็นอย่างดีที่สุด รวมทั้งยังมีผลกับการที่ข้อมูลสินค้าและบริการต่าง ๆ ของเราจะไปปรากฏในเว็บพอร์ทัลหรือเสิร์ชเอ็นจิ้นชั้นนำของโลก เช่น กูเกิ้น และเว็บไดเรคทอรี่ต่าง ๆ

เช่นเดียวกับเรื่องของนามบัตร ทางเลือกที่ดีสำหรับการสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาอาจเลือกจ้างมืออาชีพทำให้แทนที่จะทำเอง หรือหากบังเอิญคุณมีทักษะในการออกแบบและสร้างเว็บได้พอสมควรก็อาจจัดทำเว็บไซต์เองได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องแน่ใจด้วยว่ามันจะออกมาดูดี และดูแล้วเป็นการออกแบบโดยมืออาชีพ หลายคนมักจะคิดแบบเข้าข้างตัวเองว่า ก็แค่เว็บไซต์ ทำไมต้องให้คนอื่นทำให้ด้วย นั่นคือจุดที่ผิดอย่างร้ายแรง เพราะแม้จะมีเครื่องมือช่วยสร้างเว็บหรือเว็บฟรีต่าง ๆ มากมาย แต่ก็ยังต้องอาศัยความเข้าใจระดับหนึ่งเพื่อให้มีเว็บไซต์ที่ดูดี สื่อสารได้อย่างที่ควรจะเป็น

ถ้าต้องการมองหาฟรีแลนซ์ดีไซเนอร์ ในเรื่องของเว็บไซต์ การเขียนโปรแกรม ลองมองหาที่เว็บไซต์ http://www.rookienet.com/ โดยคลิกเข้าไปในส่วน freelance center หรือที่ http://www.hardcoregraphic.com/ มีฟรีแลนซ์ด้านนี้ให้บริการมากมายครับ

หรือถ้าต้องการหาเครื่องมือสำเร็จรูปสำหรับทำเว็บง่าย ๆ ลองไปที่เว็บไซต์ http://www.wordpress.com/ ที่มีเว็บบล็อกให้ใช้งานได้ฟรี ๆ รวมทั้งมีเลย์เอาท์ให้เลือกใช้ ถ้าต้องการใช้ชื่อโดเมนของตัวเองสามารถอัพเกรดได้โดยต้องจ่ายเงิน US$ 10...

โลโก้ นามบัตรและเอกสารแบบมืออาชีพ

ส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งของแบรนด์ใด ๆ ก็ตาม ก็คือ ภาพที่ใช้ปรากฏให้เห็น หรือเรียกว่าโลโก้ นั่นเอง เมื่อไหร่ก็ตามที่ออกแบบกราฟฟิกเกี่ยวกับแบรนด์ ให้คิดว่าทุก ๆ ส่วนต้องสื่อถึงงานที่เราทำได้ โลโก้ โทนสี ตลอดถึงกราฟฟิกที่เลือกใช้ หลังจากออกแบบได้สำเร็จแล้ว ควรนำไปใช้กับเอกสารต่าง ๆ นามบัตร หัวกระดาษ อีเมล์ เว็บไซต์

คำแนะนำก็คือ หากคุณไม่ใช่นักออกแบบมืออาชีพ ให้ลองมองหาฟรีแลนซ์คนอื่น ๆ ที่ทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ เพื่ออกแบบโลโก้และนามบัตร ให้จะดีกว่าพยายามทำเอง ส่วนสนนราคานั้นมีมากมาย ลองหาผู้ให้บริการที่สอดคล้องกับงบประมาณที่คุณจ่ายได้ดูนะครับ...

ตั้งชื่อธุรกิจและบริการให้โดนใจ

หัวใจสำคัญอย่างแรกของการสร้างแบรนด์ คือ การตั้งชื่อ ชื่อที่เลือกใช้ควรจะสะท้อนและเกี่ยวข้องกับงานที่จะทำ สิ่งต่าง ๆ ที่ควรพิจารณาเกี่ยวกับการตั้งชื่อธุรกิจหรือบริการได้แก่

สะกดง่าย
ชื่อที่เลือกควรจะสะกดง่าย ลองคิดถึงตัวเองก็ได้ว่าจะจำชื่อแบบไหนได้หรือไม่ได้ ชื่อที่จดจำยาก แม้จะดูแล้วเพราะ แต่ไม่ส่งผลดีในแง่ของการจดจำ ต่อไปถึงการพิมพ์ค้นหาก็ทำได้ยากเพราะ สะกดไม่ถูก ส่งอีเมล์ยาก ฯลฯ


ออกเสียงไม่ยาก
ชื่อที่ออกเสียงง่าย ย่อมจะนำไปสู่การจดจำได้ง่ายกว่าด้วย เช่นกัน ลูกค้าต้องไม่รู้สึกอึดอัดที่จะพูดหรือแนะนำบริการของคุณ

ไม่ยืดยาวและจดจำยาก
ชื่อที่สั้น กระชับ จะช่วยให้จดจำได้ง่าย

ตั้งชื่อโดเมนดี ๆ ให้เกี่ยวข้องกับงาน
ปัจจุบันนี้ เว็บไซต์เป็นช่องทางสำคัญสำหรับการตลาดและการสร้างแบรนด์ ดังนั้นพยายามหาชื่อโดเมนที่เกี่ยวข้องหรือสะท้อนกับชื่อธุรกิจของคุณ

พยายามให้โดดเด่นและแตกต่าง
พยายามหลีกเหลี่ยงชื่อสามัญ อะไรที่เป็นกลาง ๆ มักจะไม่ถูกจดจำ แบรนด์ต้องโดดเด่นและโดนใจ เว็บไซต์สมัครงานที่โด่งดังของอเมริกาใช้ชื่อ monter.com โดยใช้สัญลักษณ์เป็นตัวสัตว์ประหลาด ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องงาน แต่โดดเด่นจนจำได้ไม่มีลืม...

จุดเริ่มต้นสำหรับการสร้างแบรนด์

จุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดสำหรับการคิดสร้างแบรนด์ให้ตัวเองในบทบาทฟรีแลนซ์ ให้เริ่มจากการตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราต้องการให้ลูกค้ามองเห็นภาพเราอย่างไร พยายามมุ่งเน้นไปที่เรื่องหลัก ๆ ใช้
ข้อความในการสื่อสารที่ชัดเจนในการพูดถึงสินค้าหรือบริการของตัวเอง
สิ่งที่อาจหยิบยกมาชูเป็นจุดขาย ได้แก่
  • คุณภาพ
  • ประสบการณ์/ชั่วโมงบิน
  • มูลค่า
  • บริการ
  • ความเชี่ยวชาญ/ความชำนาญที่เหนือกว่าคนอื่น ๆ
  • ประสิทธิภาพ
  • ความน่าเชื่อถือ
  • ฯลฯ
อย่าลืมเลือกประเด็นที่คุณจะชูเป็นจุดขาย และทำงานให้เต็มที่ในผลงานทุกชิ้นผ่านมือ และแน่นอนว่าส่วนสำคัญที่สุดของแบรนด์นี้ก็คือตัวเราเอง มันควรจะสะท้อนถึงบุคลิกและความเป็นตัวคุณ
จริง ๆ อย่าพยายามหลอกตัวเองหรือลูกค้าให้เห็นในสิ่งที่เราไม่ได้เป็นจริง ๆ

เว็บไซต์คุณภาพดี ๆ อย่าง trekkingthai.com , painaima.com เหล่านี้มีแบรนด์เข้มเเข็งที่เกิดขึ้นในใจของลูกค้าว่า เขาเป็นนักเดินทาง ดังนั้นเมื่อเขาทำทัวร์กลุ่มเล็ก ๆ ไปทริปต่าง ๆ จึงมีคนส่วน
หนึ่งเชื่อมันและเชื่อใจ เพราะเห็นว่าภาพชัดอยู่แล้วนั้นเองว่าเขามีความเชี่ยวชาญเรื่องอะไร อย่างไร...

งานของเรา แบรนด์ของเรา

ถ้ายังสงสัยหรือไม่แน่ใจว่าการสร้างแบรนด์จะช่วยอะไรเราได้บ้างลองพิจารณาข้อมูลต่อไปนี้
ถ้าคุณมีอาชีพเป็นนักแปลฟรีแลนซ์ ที่รับจ้างแปลงานต่าง ๆ ต้นฉบับ พ็อคเก็ตบุ๊คจากต้นฉบับภาษาต่างประเทศ มีเหตุผลอะไรที่จะทำให้สำนักพิมพ์เลือกใช้บริการของคุณ ชื่อเสียง คุณภาพหรือราคา

นอกจากนี้ ลองคิดดูว่า ถ้าคุณเป็นผู้ว่าจ้าง คุณจะเลือกใคร ระหว่างนักแปลคนแรก ที่ไม่มีแม้กระทั้งนามบัตร ไม่มีเว็บไซต์แนะนำตัวเอง กับอีกคนที่มีผลงานแปลออกมาแล้วมากมาย แถมหนังสือเหล่านั้นมักจะติดอันดับขายดี มีนามบัตดูสวยงาม เว็บไซต์สำหรับแนะนำตัวเองที่ดูดีที่สุด

อย่าคิดว่าราคาถูกที่ถูกกว่าจะเป็นปัจจัยที่ตัดสินว่าจะได้ง่ายเสมอไป ข้อเท็จจริงในโลกของการจ้างงานก็คือ มีผู้ว่าจ้างมากมายที่มักจะเลือกคนที่ดูน่าเชื่อถือกว่า แม้ว่าจะต้องขยับมาจ่ายในอัตราค่าตอบแทนที่สูงกว่ามากก็ตาม

ถามว่าทำไมเป็นอย่างนั้น ก็ถามกลับไปง่าย ๆ ว่า ทำไมคนจำนวนหนึ่งถึงยอมจ่ายเงินซื้อรถ Benz หรือ BMW เช่นเดียวกับทำไมถึงมีคนยินดีซื้อนาฬิกา Rolex มันขับได้ดีกว่าหรือว่าบอกเวลาได้ดีกว่าเท่านั้นหรือ จะเห็นว่าความรู้สึกต่อสินค้าต่างหาก ว่ามันเหนือกว่า ดีกว่า เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการตัดสินใจนั่นล่ะผลจากการสร้างแบรนด์

เช่นเดียวกับงานช่างภาพ มีมือสมัครเล่นมากมายที่ "ถ่ายรูปได้" แต่ไม่ถึงขั้น "ถ่ายรูปดี" มักจะใช้กลยุทธ์ราคาถูกมาเสนอ เพื่อให้ได้งาน แต่ที่ผมเห็นช่างภาพมืออาชีพต่างหากที่มักจะได้งานไป แม้จะมีค่าตัวแพงกว่ามือสมัครเล่นก็ตาม ลองคิดเล่น ๆ ว่างานแต่งงาน ที่ใคร ๆ ก็มักจะคิดว่ามีครั้งเดียวในชีวิต หรืองานรับปริญญา เหล่านี้เป็นงานที่ย้อนกลับมาไม่ได้และถ้าใช้มือสมัครเล่น แล้วภาพไม่โอเคร มันจะคุ้มกันไหม

ช่างภาพเอง ก็ควรสร้างแบรนด์ สร้างโอกาสของตัวเองด้วยผลงานที่ผ่าน ๆ มา หรือเรียกว่า portfolios นั่นเอง ซึ่งช่องทางในการสื่อสารทุกวันนี้มีมากกว่าเมื่อก่อนมากไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ คอมมูนิตี้เว็บ หรือผลงานของตัวเองทุกชิ้นที่ถ่ายออกไปในสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ก็อย่าลืมพลาดโอกาสระบุชื่อไว้เสมอ อย่าลืมว่า "แบรนด์" สำหรับฟรีแลนซ์ก็คือคุณภาพของตัวผลงานนั้นเอง

เมื่อรู้จักและเห็นค่าของการสร้างแบรนด์ และรู้จักนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะนำไปสู่โอกาสได้งานเพิ่มมากขึ้น ขายงานได้ราคามากขึ้น เราจึงต้องรู้จักให้ความสำคัญกับมันมาก ๆ ...

ฟรีแลนซ์ต้องรู้จักสร้างแบรนด์

ฟรีแลนซ์ต้องสร้างแบรนด์ด้วยหรือ ? หลายคนสงสัยและตั้งคำถามในใจ แต่คำตอบก็คือ แน่นอนและไม่ใช่เรื่องธรรมดา หากแต่เป็นเรื่องที่จำเป็นมากเสียด้วย หากเราไม่ได้ตั้งเป้าแค่การเป็นฟรีแลนซ์เพื่อหารายได้เสริม แต่เราต้องการก้าวไปสู่เส้นทางฟรีแลนซ์ที่มีรายได้หกหลัก การสร้างแบรนด์จะสร้างความแตกต่างและมูลค่าที่ต่างกันอย่างมากให้สินค้าหรือบริการของเรา

ทำไมต้องสร้างแบรนด์
คำว่า แบรนด์ดิ้ง หรือการสร้างแบรนด์ เดิมทีมาจากการประทับรอยทำสัญลักษณ์ที่หูวัวเพื่อให้ระบุได้ แต่ความหมายใหม่ของแบรนด์ดิ้ง คือการสร้างความแตกต่างที่ชัดเจนให้กับสินค้าหรือบริการของคุณ และที่สำคัญแบรนด์คือสิ่งที่จะมีผลต่อการตัดสินใจเลือกสินค้าหรือบริการที่มีความคล้ายคลึงกัน
สำหรับฟรีแลนซ์ แบรนด์ไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากตัวสินค้าหรือบริการนั้นเอง ลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายจะใช้อะไรเป็นตัวตัดสิน เป็นตัวระบุความแตกต่างระหว่างสินค้าที่มีผู้ใช้บริการมากมาย
ฟรีแลนซ์ที่จะเรียกตัวเองว่ามืออาชีพนั้น จึงต้องให้ความสำคัญกับการสร้างอัตลักษณ์ ไม่ต่างจากบริษัทชั้นนำ ถามว่ามีอะไรบ้างที่ต้องใส่ใจ ก็มีตั้งแต่ โลโก้ เว็บไซต์ เอกสารต่าง ฯลฯ ที่จะทำให้ดูแล้วสมกับเป็นมืออาชีพ ไม่ใช่แค่มือสมัครเล่น และต้องไม่ลืมว่านี่คือเหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ลูกค้าเลือกใช้บริการของคุณ
สำหรับธุรกิจขนาดเล็กหรือฟรีแลนซ์เอง ไม่ใช่แค่เพียงสัญลักษณ์ ปัจจัยสำคัญก็คือ เจ้าของกิจการ คำพูด การทำงาน ผลงาน ความรับผิดชอบ เหล่านี้ล้วนนำไปสู่แบรนด์ที่แข็งแกร่ง หรือไม่ในสายตาของลูกค้า
การสร้างแบรนด์จะเป็นปัจจัยสำคัญระหว่างการได้รับเลือกให้ทำงานหรือได้แต่นั่งมองโครงการต่าง ๆ ถูกส่งให้ฟรีแลนซ์คนอื่น ๆ ทำ บางครั้งเราอาจมีโอกาสได้พบผู้ที่สนใจเป็นลูกค้า แต่อีกทางหนึ่งเว็บไซต์ โฆษณาต่าง ๆ ก็เป็นอีกช่องทางสำคัญที่อาจสร้างโอกาสและให้ข้อมูลที่ลูกค้าต้องการทราบได้
ต้องทำให้ลูกค้าจำโลโก้ จำแบรนด์ของเราได้ รู้ว่าเราได้ให้บริการหรือสินค้าอะไร และรู้ได้ว่าผลงานและคุณภาพของคุณอยู่ในระดับไหน...

อย่าลืมแผนธุรกิจ

แผนธุรกิจเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการทำธุรกิจเสมอ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเล็ก ๆ ของฟรีแลนซ์ที่เพิ่งเริ่มต้น ไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ หลายคนอาจแย้งว่า งานฟรีแลนซ์ยังต้องทำแผนธุรกิจด้วยหรือ เราตอบว่า ใช่เลย เพราะเราไม่ได้หมายถึงแผนธุรกิจเล่มหนาปึ้กเป็นร้อย ๆ หน้า อย่างธุรกิจขนาดใหญ่ ไม่ใช่แผนธุรกิจที่มีการคาดการณ์สภาวะใน 5 ปีข้างหน้า
สาเหตุที่แนะนำให้เขียนแผนธุรกิจ ก็คือ การจะได้ใช้โอกาสทบทวน คิดซ้ำ เกี่ยวกับธุรกิจที่คุณจะทำงานฟรีแลนซ์ และเป็นโอกาสสำหรับจะได้ทบทวนถึงโอกาสของปัญหาและข้อจำกัดต่าง ๆ อีกครั้ง

อะไรคือแผนธุรกิจ
เราหมายถึงเอกสารที่ครอบคลุมเนื้อหาต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

แผนผังองค์
ประกอบด้วย รายละเอียดสรุปเนื้อหาเกี่ยวกับช่องทางรายได้ บริการ อัตราค่าบริการ ราคาสินค้า ใครคือกลุ่มเป้าหมายของเรา รวมทั้งรายละเอียดต่าง ๆ เช่น ชื่อธุรกิจ ที่ตั้ง ฯลฯ

แผนการตลาด
ในส่วนนี้จะมีข้อมูลคร่าว ๆ เกี่ยวกับแนวทางการคิดค่าบริการ หรือข้อมูลราคาสินค้า/ผลิตภัณฑ์ของคุณ จำนวนเวลาทำงานต่อสัปดาห์ วันหยุด ค่าใช้จ่าย ในส่วนต่าง ๆ ต่อปี และวิธีการจะบริหารจัดการการเงินให้ดำเนินงานต่อไปได้หากทำได้ ควรวางแผนการเงินให้เป็นแผนทั้งปี เพื่อให้เห็นภาพรวม และจะได้สามารถวิเคราะห์และวางแผนการเงินได้ละเอียดรอบคอบทั้งแผนรายรับ และรายจ่าย นำไปสู่การคิดวางแผนกระแสเงินสด (cash flow) ที่ดี

การหากเวลาและโอกาสอ่านหนังสือต่าง ๆ ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับแผนธุรกิจบ้างเป็นสิ่งที่ดี แม้ว่าหนังสือกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อาจพูดถึงแผนธุรกิจสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ก็ตาม ใช้เวลากับส่วนนี้พอประมาณก็พอ ไม่ใช่เสียเวลามากจนไม่ได้เริ่มต้นก้าวไปสู่อาชีพฟรีแลนซ์มืออาชีพอย่างที่มุ่งหวัง...

เลือกโครงสร้างธุรกิจ

อาจเลือกจัดตั้งหรือจดทะเบียนธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้น หรืออาจจะหรือไม่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลก็ได้ ตรงนี้สุดแท้แต่ความเหมาะสมและความต้องการของตัวคุณเอง โดยทั่วไป จะมีทางเลือกต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

นิติบุคคล (จดทะเบียนจัดตั้งตามกฏหมาย)
-ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน
-ห้างหุ้นส่วนจำกัด
-บริษัทจำกัด
-บริษัทมหาชนจำกัด (อันนี้คงไม่เกี่ยวกับฟรีแลนซ์)

-กิจการร้านค้า
-ห้างหุ้นส่วนสามัญ

ทั้งนี้รายละเอียดปลีกย่อยของโครงสร้างแต่ละประเภทธุรกิจ กฏระเบียบ ข้อบังคับและการเสียภาษีจะมีความแตกต่างกันไป สามารถไปดูรายละเอียดต่าง ๆ เพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ที่ http://www.dbd.go.th/
นอกจากส่วนของการจดหรือไม่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว ส่วนสำคัญที่จะตามมาของเรื่องบัญชีและการนำส่งภาษี ที่เป็นเรื่องสำคัญหลังจากจดทะเบียนแล้วจะมีการกำหนดหมายเลขผู้เสียภาษีให้ใช้ระบุในการยื่นภาษีประจำปี ลองปรึกษาเพิ่มเติมเหล่านี้ได้จากบริษัทที่รับดำเนินการด้านบัญชีและการตรวจสอบบัญชี

ในส่วนของระบบเอกสารบัญชีนั้น ช่วงเริ่มต้นมักจะไม่ได้ซับซ้อน ยุ่งยากอะไรนัก หากคุณพอจะมีความเข้าใจในเรื่องนี้บางก็อาจเริ่มต้นด้วยการจัดการทำเอง โดยจดบันทึกรายละเอียดรายรับรายจ่ายต่าง ๆ เองไปก่อน โดยไม่ต้องว่าจ้างพนักงานบัญชีมาเป็นพนักงานในบริษัท แต่จะให้ดีก็หาบริษัทที่ปรึกษาด้านบัญชีมาวางระบบให้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะไม่ว่าจะอย่างไรก็ต้องมี ผมเคยเจอน้องคนหนึ่งเปิดบริษัทเพื่อรับงานฟรีแลนซ์นอกเวลาทำงานประจำ เธอมีงานค่อนข้างสม่ำเสมอ แต่ที่ไม่น่าเชื่อก็คือ เธอไม่เคยยื่นเสียภาษีประจำปีเลย มารู้ตัวอีกทีก็ตอนที่สรรพากรส่งจดหมายเชิญไปพบนั้นหล่ะครับ

เรื่องสำคัญอีกส่วนก็คือ ไม่ว่าจะเลือกใช้โครงสร้างธุรกิจในรูปแบบใดก็ตาม ต้องแยกบัญชีการเงินของธุรกิจให้ขาดออกจากบัญชีการเงินส่วนบุคคลเพื่อป้องกันการเผลอใช้เงินปะปนกัน ซึ่งจะส่งผลเสียมากกว่าดี รวมทั้งยุ่งยากเมื่อถึงเวลาต้องการทำเอกสารด้านภาษี...

ลาออกดีหรือเปล่า

    สำหรับหลายคนที่จะก้าวมาทำงานฟรีแลนซ์ฟลูไทม์ การลาออกจากงานประจำเป็นหนึ่งในกระบวนการที่ต้องพบ แม้ว่าสำหรับบางคนมันอาจหมายถึงการได้เวลาบอกลางานที่คุณเบื่อหน่ายไม่อยากตื่นไปทำงานในแต่ละวัน แต่ไม่ว่าจะอย่างไรคำแนะนำสำคัญก็คือ ควรจากมาด้วยดี อย่าให้มีปัญหาอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากออกมารับงานในสายงานเดียวกันกับงานเดิมที่คุณทำอยู่
    ยิ่งไปกว่านั้น บ่อยครั้งที่อดีตนายจ้างจะกลายเป็นหนึ่งในลูกค้าของคุณ หากเรามีผลงานที่ดี และรู้จักเนื้องานดีอยู่แล้ว ลักษณะนี้จะพบเห็นได้บ่อยในงานหลายประเภท เช่น งานประชาสัมพันธ์ งานต่าง ๆ ของเอเจนซี่ งานสร้างสรรค์โฆษณา งานออกแบบ ที่ปรึกษา ฯลฯ

ประเมินสถานการณ์การเงิน
เมื่อคิดจะก้าวเดินไปในเส้นทางฟรีแลนซ์แบบเต็มตัว อันที่จริงแล้ว มันก็คือการคิดจะเริ่มต้นสร้างธุรกิจของตัวเราเอง เช่นเดียวกับทุก ๆ ธุรกิจ เราจำเป็นต้องมีเม็นเงินมาใช้ในการเริ่มต้น โดยมากจะเป็นต้นทุนสำหรับเรื่องต่าง ๆ ต่อไปนี้
   อุปกรณ์สำนักงานต่าง ๆ ซอฟต์แวร์ อุปกรณ์สิ้นเปลื้อง
   ค่าจ้างทนายเพื่อดำเนินการส่วนต่าง ๆ สำนักบัญชี
  สร้างและพัฒนาแบรนด์ เว็บไซต์ นามบัตร หรือเอกสาร การตลาดอื่น ๆ
  ทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับใช้ในการดำเนินกิจการ
  ทุนสำรองกรณีฉุกเฉินอื่น ๆ เช่น เจ็บป่วย ไม่สบายหรืออื่น ๆ
  แน่นอนว่าไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ว่าควรจะมีเงินก้อนที่ว่านี้เป็นมูลค่าเท่าไหร่ เพราะในแต่ละธุรกิจอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ก็อาจมีมูลค่าแตกต่างกันมาก เช่น งานตัดต่อภาพยนตร์ งานเพลง ฯลฯ อาจต้องการอุปกรณ์มากมายพอสมควร ขณะที่งานเขียน อาจต้องการอุปกรณ์อะไรไม่มากมายนัก นอกจากความสามารถและไอเดียของตัวเอง เป็นต้น
  แต่ไม่ว่าอย่างไร อย่าลืมเผื่อขาดเผื่อเหลือค่าใช้จ่ายไว้เสมอ เพราะไม่รู้ว่าจะอย่างไร มีเกินดีกว่ามีขาด และอย่าลืมสำรองทุนสำหับกินอยู่อย่างน้อย 3-6 เดือนเสมอ เพราะนอกจากอะไรที่เราเห็นอยู่เป็นปกติ จู่ ๆ  เหตุการณ์หรือปริบทภายนอกอาจเปลี่ยนแปลงได้อย่างฉับพลัน เช่น กรณีวิกฤติเศรษฐกิจ หรือว่าสภาวะความวุ่นวายทางการเมือง อาจทำให้อะไร ๆ ที่คิดว่าแน่ เปลี่ยนแปลงไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ และต้องไม่ลืมว่าเราต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทุกอย่างเอง วันหยุด วันลา ไม่มีใครมาจ่ายเงินให้เราเหมือนตอนทำงานประจำอีกต่อไป

ฟรีแลนซ์เต็มตัว

    แม้เราจะไม่แนะนำให้ทุกคนเดินไปยื่นจดหมายลาออกจากงานที่ทำอยู่ เพื่อออกมารับงานฟรีแลนซ์เต็มเวลา แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่มุ่งมั่นและเลือกแบบไม่มีแทงกั๊ก สำหรับคนที่ต้องการเดิน
สายฟรีแลนซ์เต็มตัว เราแนะนำว่าควรมีเงินทุนสำหรับการเลี้ยงชีพตามปกติอย่างน้อย ๆ ที่สุดสามเดือนหรือถ้าจะให้ดีก็ต้องหกเดือนขึ้นไป แต่เงื่อนไขแบะรายบะเอียดปลีกย่อยอาจจะแตกกต่าง
กันไปไม่สิ้นสุด หลายคนเลือกเดินเส้นทางฟรีแลนซ์ดั้งแต่ยังเป็นหนุ่มสาว โดยอาจได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากครอบครัว ขณะที่บางคนอาจทำงานประจำมาจนมีความชำนาญ มีฐานลูกค้า
ในมือแล้วจึงออกมาทำงานฟรีแลนซ์เพื่อให้เวลากับครอบครัวให้มากขึ้น ฯลฯ

    การเริ่มงานฟรีแลนซ์โดยยังขาดประสบการณ์ต้องบอกว่าเป็นก้าวที่อันตรายอย่างยิ่ง เราจึงเน้นยำว่าควรมีเงินหล่อเลี้ยงให้ได้ตามปกติอย่างน้อยสามหรือหกเดือน หรือมีช่องทางรายได้อื่น ๆ เข้า
มาช่วย ลองมาดูกันว่าการเลือกเดินเส้นทางฟรีแลนซ์เต็มตัวดีหรือไม่อย่างไร

คุณมีเวลาเต็มที่สำหรับงานฟรีแลนซ์
    การทำงานฟรีแลนซ์เต็มเวลา ย่อมหมายถึงการมีเป้าหมายเพียงเป้าเดียวให้เล็ง สมาธิและพลังทั้งหมดจะถูกทุ่มเทให้อย่างไม่มีทางเลือกอื่น ๆ แน่นอนว่าความสม่ำเสมอและการพัฒนาตนเองและ
คุณภาพงานย่อมดีกว่าการเลือกเป็นฟรีแลนซ์แค่วันหยุด หรือต้องการทำงานประจำหรืองานพาร์ทไทม์ไปด้วย

ขยายงาน หาลูกค้าได้เต็มกำลัง
    การมีเวลาเต็มที่สำหรับงานฟรีแลนซ์ ย่อมหมายถึงการมีโอกาสในการแสวงหาและสร้างฐานลูกค้าได้กว้างขึ้น การทำงานฟรีแลนซ์จะกลายเป็นไลฟ์สไตล์ประจำวันของคุณไปในที่สุด

มีเวลารับงานได้ตามเวลาปกติของลูกค้า
   เมื่อคุณหันมารับงานฟรีแลนซ์เต็มตัว ลูกค้าจะพึงพอใจมากขึ้นเพราะสามารถติดต่อคุณได้ในช่วงเวลางานปกติ ไม่จำเป็นต้องรอช่วงหลังเลิกงาน เพราะสามารถติดต่อคุณได้ในช่วงเวลาทำงานปกติ
ไม่จำเป็นต้องรอช่วงหลังเลิกงานหรือเฉพาะวันหยุด ซึ่งย่อมหมายถึงการมีเวลายืดหยุ่นสำหรับการทำงานมากขึ้น พร้อมสำหรับการรองรับงานด่วน หรือประชุมงาน คุยงานได้อย่างดี
แล้วข้อด้วยของการทำงานฟรีแลนซ์เต็มตัวล่ะ

อาจจะต้องทำงานคนเดียวหรือไม่มีสังคมในที่ทำงาน
   การทงานลำพังคนเดียวหรือไม่มีสังคมในที่ทำงาน
การทงานลำพังสำหรับบางคนอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่่สำหรับบางคนอาจเป็นเรื่องธรรมดา นอกจากประเด็นความเหงาหรือการขาดสังคมในการทำงานแล้ว ประเด็นสำคัญยังอยู่ที่การขาดคนควบคุม
และสั่งงานอีกด้วย สำหรับหลาย ๆ คน เมื่อไม่มีกรอบของสำนักงาน ไม่มีหัวหน้าค่อยสั่งงาน ก็อาจจะควบคุมตัวเองไม่ได้ เผลอก็เปิดโทรทัศน์ดู ไปหาอะไรกิน งีบหลับ ฯลฯ ถ้าขาดระเบียบเช่นนี้ก็
ยากที่จะประสบความสำเร็จได้กับงานฟรีแลนซ์

มองมุมนี้ จะได้เห็นได้ชัดว่าการจะประสบความสำเร็จกับงานฟรีแลนซ์ได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีทักษะสำคัญในการควบคุมตัวเองให้ทำงานได้ตามเป้าหมายที่ควรจะเป็น

ต้องรับความเสี่ยงด้านการเงินเพิ่มขึ้น
สำหรับคนที่มีต้นทุนจากเงินออมอย่างเดียว ต้องเจอแรงกดดันจากการพยายามผลักดันงานให้สำเร็จให้ได้ ก่อนที่เงินเก็บในบัญชีจะหมด ซึ่งมองในแง่หนึ่งมันก็คือแรงผลักดันชั้นยอด ที่จะบีบให้เรา
ขยันและทุ่มเทแบบมีเท่าไหร่ใส่หมด แต่อีกทางหนึ่งก็ย่อมหมายถึงความเครียดไม่น้อยเช่นกัน...

ทำงานพาร์ทไทม์+ฟรีแลนซ์

      การเล่นบทฟรีแลนซ์จะง่ายขึ้น สำหรับคนที่ทำงานแบบพาร์ทไทม์ เช่น งานที่ต้องเข้าไปทำสัปดาห์และ 2-3 วัน ก็จะเหลือเวลาสำหรับการทำงานแบบฟรีแลนซ์ได้เต็มที่ขึ้น ขณะเดี่ยวักนก็สามารถ
มั่นใจได้ส่วนหนึ่งว่ายังคงมีรายได้จากการรับงานพาร์ทไทม์มาเป็นตัวประคับประคองไปด้วย นอกจากนี้ยังมีข้อดีอื่น ๆ ของการเริ่มงานฟรีแลนซ์ในลักษณะนี้ คือ

มีแหล่งรายได้คงที่ในส่วนหนึ่ง
     การมีงานพาร์ทไทม์เป็นแหล่งรายได้เพื่อก้าวไปสู่การทำงานฟรีแลนซ์แบบเต็มตัวจะช่วยลดความเครียดลงได้ส่วนหนึ่ง และข่วยให้สามารถก้าวไปได้ด้วยความเร็วที่เหมาะสมกับตัวเอง เพราะลำพัง
รายได้จากการทำงานพาร์ทไทม์เองก็ย่อมไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเหมือนกันทำงานประจำ แต่ข้อดีก็คือ เราจะได้กระตุ้นตัวเองเสมอว่า เป้าหมายจริง ๆ ของเราคือการเลี้ยงชีพด้วยการก้าวไปเป็นฟรีแลนซ์
มืออาชีพในที่สุด

เตรียมความพร้อมไปในตัว
     สำหรับหลายคนแล้ว การทำงานพาร์ทไทม์เป็นเพราะเราไม่ได้อยากทำงานให้คนอื่น เป้าหมายลึก ๆ จะถูกกระตุ้นเตือนไว้เสมอว่าเป้าหมายจริง ๆ ของเราคืออะไร

มีเวลามากขึ้น
     แน่นอนว่าการทำงานประจำเต็มเวลา ย่อมหมายถึงการมีเวลาเหลือสำรหับทำงานฟรีแลนซ์นน้อยถึงน้อยมาก ซึ่งหมายถึงการมีสมาธิกับงานที่รับมาน้อยลงไปด้วยในตัว และคุณภาพงานรวมทั้งชีวิต
อาจจะไม่เข้าที่เข้าทางมากนัก แต่สำหรับคนทำงานพาร์ทไทม์จะจัดสรรช่วงเวลาได้ดีขึ้น สำรหับการรับงานฟรีแลนซ์

เมื่อมีลูกค้าประมากพอค่อยบอกลางานพาร์ทไทม์
     หลังจากรับงานฟรีแลนซ์อย่างจริงจัง และใส่ใจในคุณภาพงานไประยะหนึ่ง หากรู้สึกแน่ใจว่างานฟรีแลนซ์ไปฉลุยแน่แล้ว เราก็สามารถบอกลางานพาร์ทไทม์ได้อย่างไม่ต้องลังเล พูดง่าย ๆ ก็คือเสี่ยง
น้อยกว่าการที่จู่ ๆ จะออกมาเป็นฟรีแลนซ์เต็มตัวโดยไม่มีแหล่งรายได้อะไรรองรับนั่นเอง

แล้วข้อเสียของการเริ่มต้นก้าวสู่เส้นทางฟรีแลนซ์ในรูปแบบนี้ล่ะ

คุณอาจจะทำตัวสบายเกินไป
      ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพ การเริ่มต้นด้วยการทำงานพาร์ทไทม์บวกกับการรับงานฟรีแลนซ์นั้น ดูแล้วก็อยู่กลาง ๆ ระหว่างการมีเวลาไม่พอหากทำงานประจำ กับการมีรายได้ไม่พอ หากกระโดด
มาทำงานฟรีแลนซ์อย่างเดียว ความกดดันจากทั้งสองลักษณะดูจะลดลงไปมากทีเดี่ยว แต่มันอาจจะกลายจุดด้อยที่สำคัญได้ เมื่อปราศจากแรงกดดันมนุุษย์ส่วนหนึ่งมักจะทำตัวตามสบายจนเกินไป
และอาจไม่เหลือแรงขับให้พยายามทำงานทั้งสองส่วนให้ดี พอนาน ๆ เข้า เป้าหมายที่อยากจะเป็นฟรีแลนซ์ก็อาจจะเลือนหายไปกับสายลม

งานพาร์ทไทม์อาจทำให้ไม่เหลือพลัง
     ไม่ว่าจะทำงานประจำหรือพาร์ทไทม์ บางครั้งก็ไม่ใช่ว่าจะหนักต่างกัน และการทุ่มพลังไปกับงานที่ทำมาก ๆ ก็อาจไม่เหลือพลังและสมาธิมากพอสำหรับการทำงานในส่วนของฟรีแลนซ์ แต่ก็อาจมีข้อ
ยกเว้นสำหรับคนที่มีพลังเหลือเฟือ แต่อาจไม่ใช่คำตอบสำหรับคนที่ยังไง ๆ ก็ต้องการพักผ่อนในวันหยุด

จุดด้อยของการทำงานประจำแต่รับงานฟรีแลนซ์เป็นงานเสริม (ต่อ)

อาจเจอปัญหาเมื่องานนอกเยอะจนรับมือไม่ไหว
       อีกกรณีที่อาจเกิดขึ้นได้ก็คือ งานประจำก็เยอะมากตามปกติ งานฟรีแลนซ์ที่รับไว้แบบพาร์ทไทม์ดันไหลเข้ามาพร้อม ๆ กัน แม้ว่าคุณจะพยายามบริหารเวลาอย่างไรก็ตาม
ก็ยังไม่มีแววว่างานทั้งสองอย่างจะแล้วเสร็จ เรียกว่าปั่นงานกันแบบไม่หลับไม่นอนก็แล้ว ทำงานตลอดหลังเลิกงานก็แล้ว เสาร์ อาทิตย์ก็ใช้เวลาหมดแล้ว เผลอ ๆ ลาป่วย
การเมืองแล้วก็ยังไม่เสร็จอยู่ดี
     สิ่งที่ต้องระวังคือ การรับงานมากจนเกินกำลังอาจทำให้คุณภาพงานทั้งสองส่วนแย่ลง ท้ายที่สุดไม่ว่าจะอย่างไรเราจำเป็นต้องทำงานที่มีคุณภาพ  เพราะหากปล่อยงานคุณภาพ
ไม่ดีออกไป อาจต้องเสียทั้งงานประจำและงานฟรีแลนซ์จากลูกค้าที่อาจไม่หวนกลับมาหาคุณอีกเลย

ลูกค้าชอบติดต่อในเวลาปกติ
    คงต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า ลูกค้าส่วนใหญ่จะทำงานในเวลาออฟฟิศปกติ คือ เก้าโมงเช้าถึงห้าโมงเย็น ขณะที่คนที่ทำงานฟรีแลนซ์แบบพาร์ทไทม์อาจคิดว่าเวลาช่วงนี้คือเวลา
สำหรับการทำงานประจำของตัวเอง และไม่อยากรับสายจากผู้ว่าจ้างงานนอก
คงไม่สนุกหากคุณกำลังประชุมอยู่แล้วมีสายโทรเข้ามาตามงานหลายคนเลือกการปิดโทรศัพท์ หรือปิดเสียงไม่รับสายในเวลางาน ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่เป็นข้อจำกัดที่สำคัญอีกจุดของการ
ทำงานฟรีแลนซ์ในรูปแบบพาร์ทไทม์ ผู้ว่าจ้างโดยมากจะสอบถามตั้งแต่ก่อนตกลงทำสัญญาจ้างงานเลย ว่าเราเป็นฟรีแลนซ์แบบฟลูไทม์หรือพาร์ทไทม์ เพราะผู้ว่าจ้างหลายรายต้องการ
เลือกฟรีแลนซ์ที่พร้อมทำงานได้ในแบบฟลูไทม์เท่านั้น คำแนะนำคือตอบลูกค้าไปตามความเป็นจริงว่าเราเป็นฟรีแลนซ์ประเภทใด อย่าลืมว่าด้วยเทคโนโลยีสื่อสารปัจจุบัน ลูกค้าอาจจะขอ
คุยกัเราผ่านอินเตอร์เน็ตโดยมีเว็บแคมสื่อสารได้เหมือนกับนั่งทำงานในออฟฟิศเดียวกัน ดังนั้นควรจะซื่อสัตย์ตรงไปตรงมาจะดีกว่า

เกินกำลังหรือเปล่า
การมีรายได้เพิ่มย่อมเป็นเรื่องที่คนทำงานแทบทุกคนต้องการ แต่การทำงานสองอย่างควบคู่กันไปอาจเป็นเรื่องที่เกินกำลัง ลำพังงานประจำวันละแปดชั่วโมงบวกกับพลังที่ต้องใช้ไปกับการเดินทาง
ไปกลับระหว่างบ้านกับที่ทำงานก็อาจทำให้คุณหมดเรี่ยวแรงได้แล้ว ถ้าต้องการรับมือกับงานฟรีแลนซ์อีกลองถามตัวเองดูว่าจะรับมือไหวหรือเปล่า ซึ่งส่วนนี้อาจแตกต่างกันไปสำหรับการซาร์ต
พลังด้วยการพักผ่อน การดูหนัง ฟังเพลง หรือต้องการชีวิตที่มีสังคมกับเพื่อน ๆ หลังเลิกงาน อย่าลืมตั้งคำถามกับตัวเองด้วยว่าเรามีความสุขกับการทำงานในวันเสาร์อาทิตย์หรือหลังเวลาเลิกงาน
หรือเปล่า

จุดด้อยของการทำงานประจำแต่รับงานฟรีแลนซ์เป็นงานเสริม

ไม่เหลือเวลาว่าง
สำรหับคนที่คิดว่าต้องการทำงานประจำ รับงานฟรีแลซ์ไปด้วยและต้องการเวลาว่าพักผ่อน ขอบอกว่าคุณกำลังฝันไป เพราะโดยมากจะเป็นเรื่องที่ทำได้ค่อยข้างยาก ยกเว้นว่างานที่เราทำอยู่เป็นงานพาร์ทไทม์ก็อาจจะจัดสรรเวลาในชีวิตได้ง่ายขึ้น สำหรับคนที่ทำงานประจำหนักอยู่แล้ว ยังรับงานฟรีแลนซ์อีก แบบนี้ก็ต้องระวัง เพราะกว่าจะรู้ตัว คุณอาจพบตัวเองนั้นทำงานอยู่ตลอดเวลา แทบไม่เหลือเวลาสำหรับการพักผ่อนอย่างที่ควรเป็น อย่าลืมว่าสมดุลในชีวิตก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่น ๆ

อย่าเอางานฟรีแลนซ์ไปทำในเวลางานประจำ
ปัญหาสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการทงานสองอย่างควบคู่กันไปก็คือ พอทำ ๆ ไป จะเริ่มแยกไม่ออก ที่สำคัญคือ "งานฝิ่น" หรืองานนอกจะเริ่มเข้าไปเบียดเบียนเวลาของงานประจำ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่ควรทำ ถ้าเราจะเรียกตัวเองว่าเป็นมืออาชีพให้เต็มปากเต็มคำ ก็ต้องรู้จักมีสติแยกแยะให้ออกครับ ว่าอะไรควร หรือไม่ควรทำ

แต่หลายคนอาจจะยังขาดประสบการณ์หรืออาจเป็นเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เบลยแอบเอางานนอกมาทำในเวลาประจำ ขอให้เชื่อครับว่าความลับซ่อนตัวอยู่ได้ไม่นานหรอกครับ ไม่นานนักจะต้องมีคนรู้ความลับของคุณจนได้ และเมื่อเจ้านายคุณเกิดรู้ขึ้นมาก็อาจจะถึงขึ้นโดนไล่ออกจากงานจนเสียประวัติกันเปล่า ๆ ครับ ระวังจะได้ไม่คุ้มเสีย และหากจะว่าไปถึงจะยังไม่มีใครรู้ แต่ตัวเราน่ะรู้แน่นอนครับ ทำงานฝิ่นไปต้องค่อยสลับวินโดว์กันคนอื่นเห็นไป ไม่เวิร์คแน่ ๆ ครับ เครียดเปล่า ๆ
คำแนะนำที่ชัดเจนก็คือ อย่าเอางานประจำไปทำในออฟฟิศงานประจำเด็ดขาด

เดี่ยวพรุ่งนี้มาว่ากันต่อครับ ง่วงแล้ว...

จุดเด่นของการทำงานประจำแต่รับงานฟรีแลนซ์เป็นอาชีพเสริม

ลดความเสียง
สำหรับหลาย ๆ คน การลาออกจากงานที่ทำรายได้ประจำให้เป็นเรื่องที่ทำใจยากแน่นอนว่าเมื่อทำงานประจำ ภาระในเรื่องของการหมุนเงิน การหารายได้มาจ่ายเมื่อสิ้นเดือนย่อมเป็นของเจ้าของบริษัท แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าเป็นฟรีแลนซ์เต็มตัวโดยไม่ทำงานประจำ เมื่อเศรษฐกิจแย่คุณก็ต้องรับเองเต็ม ๆ เหมือนกัน
ข้อดีของการรับงานฟรีแลนซ์โดยยังทำงานประจำกินเงินเดือนไปด้วย ก็คือ มันเหมือนกับการได้ลองฝึกดำน้ำในสระน้ำตื้น ๆ ก่อน แทนที่จะไปโดดลงทะเลกว้างทีเดี่ยวซึ่งแน่นอนว่ันอันตรายกว่ากันมากห

วันหยุดก็ยังมีรายได้
แน่นอนว่าเป็นฟรีแลนซ์ก็หยุดได้ แต่เมื่อใดที่เราหยุดทำงานไป ส่วนของรายได้ก็หยุดไปด้วยเหมือนกัน แต่การทำงานประจำนั้นย่อมต่างออกไปเพราะตอนวันหยุดนายจ้างยังคงจ่ายเงินให้คุณอยู่เหมือนเดิม ไม่ว่าคุณจะออกไปเที่ยวทะเล ไปปีนเขา หรือนั่งดื่ม นั่งทานอาหารก็ยังมีเงินเดือนจากบริษัทให้คุณตามสิทธิ์อยู่ดี นอกจากนี้การจะรับหรือบอกปัดงานก็ทำได้ง่าย เพราะแน่ใจว่ามีรายได้หลักประคองอยู่แล้ว

สร้างพอร์ตและฐานลูกค้าสำหรับการทำฟรีแลนซ์เต็มตัว
ไม่ว่าจะอย่างไรงานที่เราได้ทำและเคยทำไว้ จะเป็นสิ่งที่บอกและพูดแทน เป็นสิ่งที่ช่วยรับประกันผลงานแทนเราได้มากและชัดเจนที่สุด แต่ต้องไม่ลืมเช่นกันว่า งานที่เราทำให้บริษัทตอนมีสถานะเป็นพนักงานย่อมเป็นทรัพสินย์ของบริษัท ดหลายบริษัทไม่อนุญาติให้อ้างถึงผลงานต่าง ๆ เหล่านี้ แต่บริษัทส่วนหนึ่งก็ไม่ได้ปิดกั้นการอ้างอิงกลับไปยังผลงานเด่น ๆ ที่ได้ทำไว้เช่นกัน

หากมองจากอีกมุมหนึ่ง การเริ่มต้นจากการทำงานประจำจึงเป็ฯเหมือนโอกาสในการสร้างโฟลิโอ หรือประวัติผลงานของเราได้อย่างดีเยี่ยม รวมถึงโอกาสและความสัมพันธ์กับลูกค้าที่อาจกลายเป็นลูกค้าของเรา ในวันที่เราเลือกจะเป็นฟรีแลนซ์เต็มตัวในอนาคต เช่น นักโฆษณาประชาสัมพันธ์ ครีเอทีฟ นักออกแบบ โปรแกรมเมอร์ ฯลฯ จะมีโอกาสได้งานจากฐานลูกค้าเก่าที่เคยทำงานให้และลูกค้าพึงพอใจผลงานมากทีเดี่ยว

เป็นแหล่งเงินทุน
งานประจำคือแหล่งสะสมทุนรอนสำหรับเราได้อย่างดี เมื่อต้องการลงทุนปรับเปลี่ยนสถานที่ทำงานรวมทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ เมื่อต้องการออกมาเป็นฟรีแลนซ์เต็มเวลา

รู้จักกับงานฟรีแลนซ์

       สิ่งแรกที่ต้องพิจารณาก็คือ สถานภาพการจ้างงานของตัวคุณเอง คุณตั้งเป้าอยากเป็นฟรีแลนซ์แบบฟลูไทม์ หรือเป็นฟรีแลนซ์มืออาชีพเลยใช้หรือเปล่า หรือต้องการแค่รับงานฟรีแลนซ์เป็นงานพิเศษ เพื่อเพิ่มรายได้จากทักษะที่ตัวเองมี แต่ยังคงทำงานประจำกินเงินเดือนไปด้วย
     สำหรับคนที่มั่นใจ แน่ใจว่าผลงานตัวเองมีคนยอมรับและยินดีว่าจ้างแน่ ๆ และพร้อมแล้ว ก็อาจจะมองว่าการเดินทางไปลาออกจากสถานะการทำงานประจำว่าเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น บางคนบอกว่าเหมือนการปลดแอกเป็นการประกาศอิสรภาพ หรือสำหรับบางคนอาจเหมือนการ Unplug ออกจากระบบเลยที่เดี่ยว
     แต่หลายคนไม่ต้องการเสียงด้วยเหตุผลที่ต้องการมีรายได้ประจำอยู่เหมือนเดิม แต่ขอหารายได้เพิ่มในบทบาทฟรีแลนซ์ด้วยการรับงานพิเศษ นอกจากนี้สำหรับหลายคน การทำงานประจำยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการหาลูกค้าเมื่อต้องการออกไปเป็นฟรีแลนซ์เต้ฒตัวอีกต่างหาก ลองมาพิจารณาดูจุดเด่น จุดด้อยของการเป็นฟรีแลนซ์ทั้งสองลักษณะกันดีกว่า

อะไรคืองานฟรีแลนซ์

ถ้าจะอธิบายแบบกระชับ ๆ เข้าใจง่าย ๆ งานฟรีแลนซ์ก็คือ คนที่ทำงานให้กับตัวเอง คือคนที่รับจ้างทำงานหรือให้บริหารอะไรบางอย่าง เช่นช่างถ่ายภาพ โปรแกรมเมอร์ นักออกแบบ ที่ปรึกษา เทรนเนอร์ โค้ช ฯลฯ จุดที่แตกต่างออกไปคือ ฟรีแลนซ์มักจะมีลูกค้าหลายรายมากกว่าจะทำงานให้นายจ้างเพียงรายเดี่ยว ทักษะสำคัญที่จำเป็นต้องมีก็คือ การบริหารจัดการเวลาโดยต้องการแน่ใจว่าจะสามารถทำงานของผู้ว่าจ้างหลายรายให้เสร็จพร้อมกันได้จริง ๆ ไม่ใช่รับงานมากจนบริหารไม่ได้
บางครั้งการทำงานในรูปแบบฟรีแลนซ์ อาจถูกเรียกในชื่ออื่น ๆ เช่น การทำงานเป็นสัญญาจ้าง (contractor) ซึ่งอาจเป็นการตอบรับทำงานให้กับลูกค้าโดยมีการระบุช่วงเวลาแน่นอน ให้ตำแหน่งงานอะไรก็ตามแต่ตกลงโดยระหว่างที่ทำงานก็จะได้รับค่าตอบแทนที่ตกลงกันเป็นรายเดือนไป
หลายคนอาจมองว่างานฟรีแลนซ์ก็เป็นเพียงอาชีพอีกแบบหนึ่งเท่านั้นเอง แต่ถ้าพิจารณาดี ๆ จะเห็นว่ามันมีอะไรมากไปกว่านั้น ๆ การเลือกอาชีพนี้เท่ากับการดำเนินธุรกิจของตัวเองจากจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจฟรีแลนซ์อาจจะขยับขยายไปเป็นธุรกิจที่เติบโต มีการจ้างพนักงานมาทำงานในส่วนต่าง ๆ เต็มรูปแบบเมื่อโอกาสเปิดกว้างและธุรกิจเป็นไปได้ด้วยดี
ข้อดีของการทำงานในรูปแบบนี้คือการที่เรามีอิสระที่จะเลือกงานที่เราจะทำ กำหนดระยะเวลาที่จะทำงาน ไปจนถึงเลือกนายจ้างที่เราต้องการทำงานให้ แต่ก็ต้องมีความรับผิดชอบอื่น ๆ ตามมาอีกไม่น้อย เช่น ความเครียด จากการจะหางานมาได้จากที่ไหน จะได้รับเงินค่าตอบแทนเมื่อไหร่ จะทำยังไงเมื่อมีงานมากเกินความสามารถที่จะรองรับได้ และเช่นกันจะทำอย่างไรเมื่อไม่มีงานเข้า การทำสัญญาว่าจ้าง การติดตามทวงถามหนี้
จากข้อมูลและความรับผิดชอบที่กล่าวมาจะเห็นว่า ลำพังแค่ความรู้ ความสามารถพิเศษจากทางใดทางหนึ่งอาจะไม่พอเพียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราตั้งเป้าว่าเมื่อเลือกที่จะใช้อาชีพฟรีแลนซ์เราจะขอเป็นฟรีแลนซ์มืออาชีพและพร้อมจะสร้างรายได้จากงานที่เรารักแบบไม่ขอลำบาก ทำเงินกันให้ได้เป็นกอบเป็นกำพร้อม ๆ กับอิสระในชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น
พอพูดแบบนี้ หลายคนอาจเริ่มลังเลและเห็นว่าการยึดการทำงานแบบฟรีแลนซ์เป็นอาชีพเป็นเรื่องที่ทำได้ยากเกินไปหรือเปล่า ยืนยันเลยครับว่าอาจจะต้องเหนื่อยมากขึ้น แต่การเลือกเดินบนเส้นทางสายฟรีแลนซ์นั้นจะให้อิสระให้ความรู้สึกที่ดีที่เทียบเท่าไม่ได้กับการทำงานให้คนอื่น เราจะลุกจากเตียงนอนขึ้นมาทุกเช้าเพื่อควบคุมโชคชะตาของเราเอง ด้วยความรู้สึกของการเป็นนายชีวิตของตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่าความรู้สึกแบบนี้ไม่อาจหาซื้อได้ด้วยเงินเดือน....

เริ่มต้นสู่เส้นทางฟรีแลนซ์

"สำหรับบางคน การจะเริ่มต้นอาชีพฟรีแลนซ์ อาจเป็นความท้าทายครั้งสำคัญในชีวิต อาจเป็นเพราะการที่จะหันหลังให้กับวิถีชีวิตแบบเข้างาน 9 โมงเช้า เลิกงาน 5 โมงเย็น หรืออาจเป็นเพราะการจะได้เป็นนายตัวเอง และแน่นอนว่าเราจะได้กำหนดวิถีชีวิตตัวเองตามต้องการ"

โมดูลสำหรับขั้นตอนสู่การเป็นฟรีแลนซ์มืออาชีพ

เราลองมาดูหัวข้อทั้งหมด ที่จะต้องเรียนรู้ในการก้าวสู่อาชีพฟรีแลนซ์มืออาชีพกันก่อนนะครับ ประกอบด้วยหัวข้อต่าง ๆ ดังนี้

Module 1 : เริ่มต้นสู่การเป็นฟรีแลนซ์
  • อะไรคืองานฟรีแลนซ์
  • รู้จักกับงานฟรีแลนซ์
  • ทำงานพาร์ทไทม์+ฟรีแลนซ์
  • ฟรีแลนซ์เต็มตัว
  • ลาออกดีหรือเปล่า
  • ประเมินสถานการณ์การเงิน
  • เรื่องธุรกิจ บัญชีและกฏหมาย
  • อย่าลืมแผนธุรกิจ
Module 2 : ฟรีแลนซ์ต้องรู้จักสร้างแบรนด์
  • ทำไมต้องสร้างแบรนด์
  • งานของเรา แบรนด์ของเรา
  • ตั้งชื่อธุรกิจและบริการให้โดนใจ
  • โลโก้ นามบัตรและเอกสารแบบมืออาชีพ
  • เว็บไซต์ ห้ามมองข้าม
  • สร้างชื่อเสียงจากงานที่ทำ
Module 3 : บริหารเวลาทำงานแบบมืออาชีพ
  • โฮมออฟฟิศ หรือออฟฟิศดี
  • ที่ทำงานต้องมีความสุข
  • อุปกรณ์ที่จำเป็น
  • ดูแลตัวเองให้ดี
  • บริหารเวลา สร้างงานให้ได้ตามเป้า
  • โดดเด่นด้วยเนื้องาน
  • ฟรีแลนซ์กับความเหงา
  • ฟรีแลนซ์กับโลกร้อน
Module 4 : จัดพอร์ต หางาน สร้างเงิน
  • พอร์ตโฟลิโอ
  • หางานแรกให้ได้
  • หาลูกค้าจากการบอกต่อ
  • พบลูกค้าใหม่
Module 5 : สารพัดเทคนิคบริหารโครงการ
  • การคุยงาน
  • สรุปเรื่องที่คุย กำหนดขอบข่ายงาน
  • ประเมินกรอบเวลา
  • โครงการใหญ่ รับมือยังไงดี

เส้นทางสู่การเป็นฟรีแลนซ์มืออาชีพ

"อาชีพ" ในโลกทุกวันนี้เปลี่ยนไปจากเมื่อทศวรรษที่ผ่านมาแบบคนละเรื่อง มีอาชีพแปลกใหม่เกิดขึ้นมากมาย หนึ่งในนั้น คือ การเป็นนายตัวเองในรูปของฟรีแลนซ์ (freelance) โดยมากจะเป็นอาชีพที่ต้องมีความชำนาญพิเศษบางอย่าง มีฝีมือที่พร้อมจะมีคนว่าจ้างให้สร้างงานให้ หลายคนเลือกที่จะลาออกจากงานประจำมาเป็นฟรีแลนซ์เต็มตัว ขณะที่หลายคนยังเลือกมีรายได้จากงานประจำส่วนหนึ่ง แต่ขอหล่อเลี้ยงความฝันไว้ด้วยการทำงานที่ตัวเองรักและสนุกกับมันในรูปแบบงานฟรีแลนซ์พาร์ทไทม์ในเวลาว่าง
          เกริ่นมาก็ซะเยอะเลย ก็แค่อยากจะบอกว่า ผมจะมาแนะนำการเป็นฟรีแลนซ์ แบบ step by step
          ซึ่งผมหวังว่า การเขียนบล็อกนี้ จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านหลาย ๆ ท่าน ไม่มากก็น้อย

                                                                        ยินดีต้อนรับสู้เส้นทางฟรีแลนซ์มืออาชีพครับ
                                                                         9chok